ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ขอสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่ยาก
ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ขอสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่ยาก
หากจะกล่าวว่า “อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์” (Freelance) กำลังเป็นอาชีพยอดฮิตหรือยอดนิยมของหลายคนๆ ในปัจจุบัน อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ในประเทศไทย เป็นอาชีพที่เน้นเรื่องของ “การให้บริการ” (Service) เป็นหลัก มีลักษณะการทำงานเป็นแบบออกแรงทำงานคนเดียว หรือใช้คนทำงานไม่มาก ไม่มีหน้าร้านไว้ขายของ ไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล มักจะมีการรับงานผ่านมือถือ, ไลน์ หรือเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ เป็นหลัก สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบใหญ่ ได้แก่
รูปแบบแรก - ฟรีแลนซ์แบบดั้งเดิม มีลักษณะงานส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น ไรเดอร์ส่งสินค้าหรือส่งอาหาร, ช่างภาพ, นายหน้าประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย, นายหน้าอสังหาริมทรัพย์, ไกด์นำเที่ยว, ช่างไฟฟ้า, ช่างแอร์, นักดนตรี, ศิลปินและนักแสดง เป็นต้น
รูปแบบที่สอง - ฟรีแลนซ์แบบทำงานออนไลน์ เน้นการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านเป็นหลัก ตั้งแต่เริ่มต้นคุยงานหรือรับงาน การทำงาน และการส่งมอบงาน อาชีพฟรีแลนซ์ที่ทำงานในรูปแบบนี้ เช่น ออกแบบกราฟิก, ออกแบบเว็บไซต์, เขียนโปรแกรม, เขียนเว็บไซต์, ตัดต่อวีดีโอ หรือใส่คำแปลลงใน Youtube และ Facebook, แปลภาษา, เขียนบทความ เป็นต้น
อยากเปลี่ยนมาทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เป็นงานหลักดีไหม ?
อย่างที่เกริ่นนำไปแล้วในข้างต้น อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่หลายๆ คนให้ความสนใจ จากผลการสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบปี 25641 พบว่า สาเหตุที่คนต้องการทำอาชีพอิสระ โดยให้ตอบเฉพาะคนที่เคยทำงานประจำมาก่อน โดยเหตุผลที่คนตอบมาเป็นอันดับ 1 คือ “ต้องการอิสระ” ร้อยละ 41.42 ซึ่งเหตุผลข้อนี้คงตรงกับความคิดของคนส่วนใหญ่ที่หันมาทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ส่วนเหตุผลต่อมา คือ “ค่าจ้าง / รายได้ไม่คุ้มค่า” ร้อยละ 19.26 และอันดับ 3 คือ “ถูกเลิกจ้าง” ร้อยละ 10.84
คนที่ต้องการเริ่มอาชีพนี้ หากเป็นเด็กจบใหม่ คงตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ แต่ถ้าเป็นคนที่มีงานประจำทำอยู่แล้วคงต้องชั่งใจดีๆ ว่าหากจะต้องเลิกจากงานประจำที่ทำอยู่แล้วหันมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว สำหรับเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
ต้องมีการพัฒนาทักษะตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำงานประจำหรือเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะทำงานในสาขาอาชีพอะไร "การเรียนรู้" เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้วตลอดเวลา และไม่ควรหยุดนิ่งที่จะพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ ให้กับตัวเอง เพราะหากเราหยุดนิ่งคนอื่นก็จะแซงหน้าเราไป
ควรมีแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook, IG เป็นต้น ไว้แสดงผลงานให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้เห็นผลงานของฟรีแลนซ์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันมีการใช้งานออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณลูกค้าใหม่ให้มาใช้บริการมากขึ้น สำหรับข้อนี้จะเหมาะกับฟรีแลนซ์แบบดั้งเดิม
หลีกเลี่ยงการทำงานให้กับผู้ว่าจ้างรายใหญ่เพียงรายเดียวที่มียอดเกิน 50% เพราะหากผู้ว่าจ้างไม่จ่ายงานให้ จะทำให้มีผลกระทบกับรายได้ทันที ถ้าเป็นไปได้ควรมีการกระจายผู้ว่าจ้างไปหลายราย อย่าพึ่งพาผู้ว่าจ้างรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียว
ต้องทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดของงานที่ทำให้ชัด จำนวนเงินค่าจ้าง ระยะเวลาดำเนินการ หรือแม้แต่จำนวนครั้งที่ให้แก้ไขงานได้ (ส่วนมากกำหนดไว้ให้แก้ไขได้ไม่เกิน 3 ครั้ง) การทำสัญญาฯ เพื่อป้องกันผู้ว่าจ้างบิดพริ้ว หรือหาข้ออ้างไม่จ่ายเงินให้ตามที่ตกลงกันไว้ ข้อดีของการทำสัญญาฯ 1) เพื่อความรัดกุมในการรับงาน และ 2) มีเอกสารแสดงรายได้ของฟรีแลนซ์ หากมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารจะดูจากความสม่ำเสมอของรายได้เป็นหลัก
รายได้จะขึ้นกับความสำเร็จของงาน ทำมากก็ได้มาก หรือบางครั้งอาจจะได้ไม่มาก ถ้างานนั้นแข่งขันกันสูงในเรื่องของราคา (Pricing) แต่คนที่หันมาทำอาชีพฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่ประเมินแล้วว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญรายได้ที่ได้รับต้องเพียงพอกับภาระหนี้สินเดิมที่มีอยู่ (ภาระหนี้ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ เช่น รายได้ 1 แสนบาทต่อเดือน ภาระหนี้ไม่ควรเกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนเช่นกัน) เพราะหากเดือนไหนรายได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่มากก็ยังมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้ได้
เอาเงินเข้าบัญชีทุกครั้งเมื่อได้รับเงิน เมื่อได้รับเงินค่าจ้างทุกครั้ง ควรนำเข้าบัญชีทั้งจำนวน หากต้องการใช้ค่อยทยอยถอนออกมา การหมุนเวียนบัญชีเป็นประจำ นอกจากจะเป็นการสร้างวินัยการออมแล้ว ยังเป็นการแสดงความสม่ำเสมอของรายได้ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการขอสินเชื่อ
สวัสดิการต่างๆ จะหายไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล, เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินบำนาญหรือเงินเกษียณ (ถ้ามี) เป็นต้น เมื่อออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวแล้ว สวัสดิการต่างๆ ที่เคยมีก็ต้องจ่ายเงินเอง เช่น ในเรื่องของสุขภาพ ควรทำประกันสังคม ม.39 , ซื้อประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ และประกันชดเชยรายได้ ส่วนในเรื่องเก็บเงินเพื่อการเกษียณ พร้อมประหยัดภาษี ควรซื้อกองทุน SSF & RMF เป็นต้น
ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายให้มาก จ่ายเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายในเรื่องฟุ่มเฟือย แต่หากอยากจะให้ความสุขกับตนเองก็ต้องไปดูก่อนว่ามีเงินสำรองไว้ใช้ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วหรือไม่
ต้องมีเงินสำรองไว้ใช้หรือต้องมีเงินเก็บ หากผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้ช้า หรือบางครั้งหาเรื่องไม่จ่ายเอาดื้อๆ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา สำหรับเงินสำรองควรมีไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่าย เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 3 หมื่นบาท ควรมีเงินสำรอง 1.8 แสนบาท
ควรมีวงเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน นอกจากบัตรเครดิตที่ช่วยยืดระยะเวลาชำระเงิน ยังมีอีกทางเลือก คือ บัตรกดเงินสด ยกตัวอย่าง คือ บัตรเงินด่วน Xpress Cash ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คิดดอกเบี้ยจากยอดที่ใช้ หากไม่ใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ย
คำแนะนำเพิ่มเติม : สำหรับคนที่ทำงานประจำ สามารถทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเสริมได้ เพื่อเป็นการทดลองดูก่อน อย่าพึ่งรีบร้อนลาออกจากงานเดิม หากทดลองทำไปสักระยะแล้วเห็นว่าดีค่อยตัดสินใจใหม่ได้ แต่ถ้าหากเห็นว่าไม่ค่อยดีหรือได้ไม่คุ้มเหนื่อยก็อาจจะเลิกทำได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังมีงานประจำทำอยู่
อาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ อยากจะขอสินเชื่อบัตรเครดิต ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
หากมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะทำงานในสาขาอาชีพใดการขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก ธนาคารพร้อมที่จะให้สินเชื่อกับผู้ที่แสดงให้ธนาคารเห็นว่า “เมื่อกู้เงินไปแล้วสามารถจ่ายคืนหนี้ได้” สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อของธนาคาร นอกจากจะดูจากวงเงินสินเชื่อที่ขอแล้ว จะดูในเรื่องของประวัติการชำระหนี้ในอดีตที่ผ่านมา ดูในเรื่องของหลักประกัน (ถ้ามี) และประเด็นสำคัญจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารจะดูจากเอกสารทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อเป็นหลัก
กรณีเป็นผู้มีรายได้ประจำ ธนาคารจะดูจากสลิปเงินเดือน และสเตทเม้นท์เป็นหลัก หากมีการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารด้วยแล้ว ไม่ต้องนำสลิปเงินเดือนมาแสดงกับธนาคาร
แต่หากทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ จะดูจากสัญญาว่าจ้าง หรือหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) หรือ ภงด.90 และสเตทเม้นท์ หากมีเอกสารมาแสดงครบถ้วนสามารถขอสินเชื่อได้ไม่ยาก ไม่แตกต่างจากผู้มีรายได้ประจำ แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีการเก็บเอกสารหรือสัญญาต่างๆ เอาไว้ จึงทำให้ไม่มีเอกสารหลักฐานมาแสดง จึงทำให้มักจะถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อ และคิดว่าหากทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ขอสินเชื่อไม่ได้
ดังนั้น คนที่ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ เมื่อมีการรับงาน แนะนำให้เก็บรวบรวมสัญญาจ้างงานไว้ทุกฉบับ และนำเงินค่าจ้างที่ได้รับทั้งหมดเข้าบัญชี (กรณีรับเป็นเงินสด) ต้องการใช้เมื่อไหร่ค่อยถอนออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของรายได้ว่ามีเพียงพอที่ชำระหนี้คืนธนาคารได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น