เรื่องที่ต้องรู้เมื่อคิดจะกู้ร่วม
การกู้ร่วม เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ หรือนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ซื้อบ้านพักอาศัย เป็นต้น แต่ไม่สามารถกู้คนเดียวได้ เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ หรือบางคนมีรายได้เพียงพอ แต่มีภาระผ่อนมากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด
สำหรับหลักเกณฑ์การกู้ร่วมที่สำคัญ คือ ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์กันในลักษณะครอบครัวหรือเครือญาติกัน เช่น พ่อ แม่ ลูก พี่น้องท้องเดียวกัน สามี-ภรรยา หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม เช่น สูติบัตรลูก, การ์ดงานแต่งงาน เป็นต้น
ข้อดีของการกู้ร่วม
อย่างที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่าการกู้ร่วมเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีหลายเรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ได้บ้านหลังใหญ่ขึ้นหรือได้วงเงินที่เพิ่มมากขึ้น*
หรือเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระให้เพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างที่พบบ่อยๆ เช่น นายเอ (นามสมมติ) มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท มีความสามารถในการผ่อน1 15,000 บาท ปกติธนาคารจะให้มีภาระผ่อนไม่เกิน 50% ของรายได้ สมมติว่าไม่มีภาระการผ่อนอื่นๆ จากรายได้ปัจจุบันหากต้องการซื้อบ้าน จะกู้ได้ 2,140,000 บาท มาจาก 15,000 (ยอดผ่อน) ÷ 7,000 (ยอดที่ต้องผ่อนต่อจำนวนเงินกู้ 1,000,000 บาท) x 1,000,000 (จำนวนเงินกู้)
ดังนั้น ถ้านายเอ ต้องการกู้ซื้อบ้าน ในราคา 3,000,000 บาท ต้องผ่อนชำระเดือนละ 21,000 บาท ระยะเวลา 30 ปี ทำให้ความสามารถของนายเอ ไม่เพียงพอที่จะซื้อบ้านในราคาดังกล่าว ดังนั้น ทางเลือกในการกู้ร่วมจะทำให้สามารถกู้ซื้อบ้านในราคาที่ต้องการได้ ซึ่งผู้ที่จะมากู้ร่วมต้องมาช่วยผ่อนอีกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 18,000 บาท และต้องไม่มีภาระการผ่อนอื่นๆ เพิ่มเติม หากมีภาระการผ่อนเดิม จะมีผลทำให้รายได้ขั้นต่ำต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
2.ได้ระยะเวลากู้ที่นานขึ้น
ทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลง มักพบมากในกรณีกู้ซื้อบ้าน เช่น ผู้กู้หลักมีอายุ 50 ปี สามารถกู้ได้นานสูงสุด 10 ปี หากต้องการกู้ซื้อบ้าน 3,000,000 บาท ต้องผ่อนเดือนละ 36,000 บาท (เงินกู้ 1,000,000 บาท ระยะเวลา 10 ปี ผ่อนเดือนละ 12,000 บาท) แต่หากกู้ร่วมกับคนที่อายุน้อย เช่น บุตร หากมีอายุน้อยกว่า 30 ปี สามารถกู้ได้นานสูงสุด 30 ปี ดังนั้น กรณีนี้หากกู้ร่วมกับบุตรทำให้ยอดที่ต้องผ่อนต่อเดือนลดลงเหลือ 21,000 บาท และผ่อนได้นานสูงสุด 30 ปี
ข้อควรรู้เมื่อต้องกู้ร่วม
เมื่อรู้ข้อดีของการกู้ร่วมแล้ว เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ข้อควรรู้เมื่อต้องกู้ร่วม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนการกู้ร่วม ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนกู้ร่วม
ระหว่างเรื่องความรับผิดชอบในการผ่อนชำระ กับ ความเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่เหมือนกัน และหากต้องแยกทางกัน จะจัดการทั้ง 2 เรื่องได้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่างวดที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน ผ่อนแบบใด ทุกคนผ่อนเท่ากัน หรือผ่อนตามกำลังความสามารถของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกรรมสิทธิ์ในบ้าน ซึ่งตามกฏหมายถือว่าทุกคนที่มีชื่อในโฉนดมีสิทธิ์เท่ากัน ถ้าผ่อนไม่เท่ากันเมื่อผ่อนหมดแล้วจะแบ่งกรรมสิทธิ์กันอย่างไร เป็นเรื่องแรกที่ต้องคุยกันให้เคลียร์จะได้ลดปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง
2.การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
การซื้อบ้านผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น หากมีการกู้ร่วมกันก็ต้องนำดอกเบี้ยที่จ่ายมาหารเฉลี่ยกันตามจำนวนผู้กู้ เช่น กู้ร่วม 2 คน สมมติว่าเสียดอกเบี้ยบ้าน 120,000 บาท สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 50,000 บาทเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทตามเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด หรืออีกกรณีที่พบบ่อยผู้กู้ คนแรกเสียภาษีในอัตราที่สูง ส่วนอีกคนเสียภาษีในอัตราที่ต่ำหรือได้รับการยกเว้น กรณีนี้คนแรกจะนำดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องเสียมาลดหย่อนคนเดียวได้หรือไม่ คำตอบคือทำไม่ได้เช่นกัน โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับตัวอย่างข้างต้น คือดอกเบี้ยถูกหารเฉลี่ยเท่ากันตามจำนวนคนกู้
3.ความรับผิดชอบหนี้สิน
เป็นอีกเรื่องที่คนกู้หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบหนี้ตามสัดส่วนที่กู้ เช่น กู้ร่วม 2 คน จำนวนเงิน 3,000,000 บาท หากมีปัญหารับผิดชอบแค่คนละ 1,500,000 บาท เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หากคนที่กู้คนใดคนหนึ่งไม่จ่าย ผู้กู้ที่เหลือต้องรับผิดชอบหนี้ที่เหลือทั้งหมด หากไม่สามารถรับผิดชอบได้ มีโอกาสที่จะถูกฟ้องร้องในภายหลัง และมีผลทำให้มีประวัติทางการเงินที่ไม่ดีตามมา
4.การขอยกเลิกการกู้ร่วม
ผู้กู้หลายคนพอกู้ไปได้สักระยะหนึ่ง มักมีความต้องการขอยกเลิกภาระด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น ไม่อยากมีภาระหนี้ หรือต้องการไปกู้ซื้อบ้านเป็นของตนเอง แต่ติดตรงที่มีภาระการกู้เดิม ทำให้การกู้บ้านหลังใหม่ มีความสามารถในการผ่อนไม่เพียงพอตามหลักเกณฑ์ธนาคาร
สำหรับการขอยกเลิกการกู้ร่วม ปกติธนาคารจะพิจารณาว่าผู้กู้ที่เหลือมีความสามารถเพียงพอที่จ่ายหนี้คืนธนาคารได้หรือไม่ ถ้ามีความสามารถเพียงพอ ธนาคารจะอนุมัติให้ยกเลิกการกู้ร่วมได้ แต่หากความสามารถไม่เพียงพอ ธนาคารจะปฎิเสธการขอยกเลิกการกู้ร่วม ซึ่งผู้กู้ที่เหลือต้องส่งเอกสารด้านรายได้มาให้ธนาคารพิจารณาประกอบการขออนุมัติด้วยเปรียบเสมือนการขอสินเชื่อใหม่
5.เช็กประวัติคนที่จะมากู้ร่วม
ปกติหลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารไม่ว่าจะเป็นผู้กู้หลักหรือผู้กู้ร่วมต้องมีคุณสมบัติที่ผ่านเกณฑ์ของธนาคารเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้มีความชัดเจนหรือไม่ และผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ ภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมกับภาระหนี้ที่ต้องผ่อนครั้งนี้เพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญประวัติทางการเงินที่ผ่านมาผ่อนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้กู้ส่วนใหญ่มักมองข้าม
การกู้ร่วมถึงแม้จะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งเพื่อทำให้ได้เงินมากขึ้น หรือได้บ้านหลังใหญ่ขึ้น กู้ได้ระยะเวลานานขึ้น และผ่อนน้อยลงก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ผู้กู้ต้องให้ความสำคัญ ต้องคุยกันให้เคลียร์ก่อนกู้ หรือสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้าน หรือความรับผิดชอบในหนี้สิน ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบครอบก่อนที่จะกู้ร่วม หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ Line@KBank Live หรือ K-Contact Center 02-8888888 กด 8 กด 1 กด 4 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามผ่านสาขาของธนาคารที่สะดวกได้เช่นกัน
* โปรดตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ก่อนการขอกู้เงินกับธนาคารทุกครั้ง
1 คุณสมบัติสินเชื่อบ้านและเครื่องมือในการคำนวณยอดผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือน
อ่านบทความช่วยเรื่องกู้รู้จริงเพิ่มเติม
คลิกเลย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น